“จักสานย่านลิเภา” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ “จักสานย่านลิเภา” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของภาคใต้

“จักสานย่านลิเภา” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของภาคใต้

ที่มา: https://shorturl.asia/VXkz5

 

“จักสานย่านลิเภา” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของภาคใต้

วรรณพิชชา โตะสัน

 

       “จักสานย่านลิเภา” งานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ มีลวดลายที่งดงาม มีเอกลักษณ์และมีคุณค่า ได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP1 ของดีขึ้นชื่อ จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยความงดงามนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภามีชื่อเสียงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากมาย

       ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เกิดจากการสานด้วย “ย่านลิเภา2 ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดี คือ ลำต้นเหนียว ชาวบ้านจึงนำมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ แหล่งผลิตที่สำคัญของเครื่องจักสานย่านลิเภาอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศไทย

ย่านลิเภาเป็นพืชล้มลุกในตระกูลเฟิร์น แบ่งได้เป็น 3 ชนิด 

  1. ย่านลิเภาเขา คล้ายกับต้นหวาย ลำต้นใหญ่ มักใช้มัดสิ่งของ 

  2. ย่านลิเภาหยอง ใบหยิก ลำต้นเล็ก ไม่นิยมนำมาแปรรูป 

  3. ย่านลิเภาที่ขึ้นอยู่ตามป่าละเมาะหรือชายป่า ลำต้นเรียวงาม เปลือกเหนียวมี 2 แบบ คือ ลำต้นสีดำและลำต้นสีน้ำตาล โดยทั่วไป ลำต้นสีน้ำตาลจะมีความยาวและลำต้นที่โตกว่า และจะมีคุณสมบัติที่เหนียวกว่าลำต้นสีดำ

สถานที่ที่พบย่านลิเภามากทางภาคใต้ของประเทศไทย คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น

เอกลักษณ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาเครื่องจักสานย่านลิเภา

      การสร้างผลงานหัตถกรรมจักสานนั้นจะต้องใช้ความประณีต ความละเอียดอ่อน และความอดทนเป็นอย่างมากในขั้นตอนการสาน เนื่องจากต้องค่อย ๆ ถักทอ เรียงร้อยเส้นย่านลิเภาทีละเส้น ๆ แม้จะใช้เวลาค่อนข้างนานในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่างต่ำใช้เวลา 1 เดือน บางชิ้นอาจใช้เวลาถึง 4-5 เดือนขึ้นอยู่กับความละเอียดละอ่อน แต่สุดท้ายก็ได้ผลงานที่มีเอกลักษณ์ ประกอบกับในปัจจุบันมีการสร้างสรรค์งาน จักสานย่านลิเภาเป็นรูปทรงต่าง ๆ ผสมผสานกับเครื่องถมเมืองนคร ทั้งถมเงิน และถมทอง มีลวดลายที่วิจิตรงดงามทำให้ผลงานยิ่งมีคุณค่า มีราคามากยิ่งขึ้น

        การเลือกย่านลิเภาสำหรับใช้ในการจักสานมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. ย่านลิเภาดำ มีลักษณะเส้นที่สั้นและมีสีค่อนข้างดำ 2. ย่านลิเภาน้ำตาล มีลักษณะเส้นที่ยาว การเลือกเส้นย่านลิเภาให้เหมาะสมนั้นต้องมีความเหนียวและทน ด้านในควรมีสีน้ำตาลเข้ม ด้านนอกมีสีที่เขียวเข้ม ส่วนลิเภาอ่อนนั้นจะไม่นำมาใช้ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นน้อย เมื่อดึงเส้นลิเภาในขั้นตอนการทำอาจทำให้เส้นลิเภาขาดและมีสีสันที่ไม่สวยงาม

ทักษะที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การขึ้นรูปโครงหวายให้ได้ขนาดตามรูปทรงที่ได้ออกแบบไว้ และต้องมีความพิถีพิถันในกรรมวิธีการเลียดเส้นหวาย และเส้นลิเภา เพื่อให้มีขนาดเล็กที่สุด เมื่อนำไปสานแล้วจะมีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะได้ผลงานที่มีความงดงาม

     อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญคือ การสร้างสรรค์ลวดลาย งานหัตถกรรมจะมีคุณค่า หรือมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างลวดลายบนผลงาน ผู้สร้างสรรค์ผลงานนอกจากจะต้องพัฒนาฝีมือของตัวเองแล้ว ยังต้องหมั่นฝึกฝน มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างลวดลายที่แปลกใหม่ เพื่อให้ผลงานที่ออกมานั้นดูมีความทันสมัย เข้ากับยุคปัจจุบัน ลายที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันล้วนเป็นลายที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาจากลวดลายที่มีมาในอดีต ได้แก่ ลายพิมพ์ทอง ลายเม็ดแตง ลายมัดหมี่ ลายเม็ดมะยม ลายดาวกระจาย เป็นต้น

        นอกจากผลิตภัณฑ์กระเป๋าจักสานย่านลิเภาแล้ว ยังมีข้าวของเครื่องใช้อีกหลายชนิดที่เกิดขึ้นจากการสานย่านลิเภา เช่น พาน พัด กล่องเก็บของเล็ก ๆ กล่องใส่ทิชชู่ เชี่ยนหมาก ขันดอกไม้ธูปเทียน ตะกร้า กำไลข้อมือ หวี ต่างหู ที่คาดผม ที่ใส่ปากกา เป็นต้น

 

   

ที่มา: https://shorturl.asia/VXkz5

 

1OTOP “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเรียกชื่อโดยย่อว่า โอทอป                                                (OTOP) เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นธุรกิจประกอบการที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน                       ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ผลิตและจำหน่ายในท้องถิ่น
2ย่านลิเภา หรือ ลิเภา เป็นพืชตระกูลเฟิร์น หรือ เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง (ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกเถาวัลย์ว่า “ย่าน”)
             ประไพ รักเดช (สัมภาษณ์, 19 ธันวาคม 2565) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.).               งานศิลปหัตถกรรมประเภทจักสานย่านลิเภา. https://bit.ly/3UYtoq0
Museum Thailand. (2559). จักสานย่านลิเภา. https://bit.ly/3Ft6fpT
 

แชร์ 1821 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้